ข่าว

"กรมทางหลวง" สั่งเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมายทั่วประเทศ กำชับบนสะพานลอยคนข้ามห้ามมีป้ายโฆษณาอย่างเด็ดขาดทุกเส้นทาง

นายสราวุธ ทรงศิวิไล รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวง ทั่วประเทศ เร่งดำเนินการเก็บป้ายโฆษณาต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมายบริเวณ 2 ข้างทางหลวง รวมทั้งบนสะพานลอยคนเดินข้ามทุกแห่ง ซึ่งเป็นการจัดระเบียบตามโครงการทางหลวงปลอดภัย ขับขี่สบายตา รวมถึงมาตรการการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยของกรมทางหลวง เนื่องจากป้ายโฆษณาดังกล่าวบดบังทัศนวิสัยในการขับขี่และป้ายที่ติด 2 ข้างทาง รวมทั้งติดบนสะพานลอยคนเดินข้าม ส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งชั่วคราว ไม่มั่นคงแข็งแรง อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ขับขี่ และความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยบนทางหลวง 

ทั้งนี้ ในการติดตั้งป้ายโฆษณาต่าง ๆ ตาม 2 ข้างทางหลวงที่ไม่ได้รับอนุญาต นอกจากการกระทำผิด พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ กรมทางหลวงขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นป้ายโฆษณาที่มีลักษณะผิดกฎหมายบนทางหลวง สามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586

 

ปรับ2พันบาทถือป้ายโฆษณาริมถนน
ต๊กกะใจ... “ป้ายดุ๊กดิ๊ก”
     ท่านทั้งหลายคงเคยเห็นคนรับจ้างถือป้ายโฆษณาตามที่สาธารณะ ตามริมฟุตปาท ตามป้ายรถเมล์ หรือตามริมถนนในเมืองที่มีผู้คนสัญจรผ่านไปมามากมายรวมถึงรถราที่วิ่งกันขวักไขว่  ไปจนถึงถนนตามแถบชานเมืองที่เริ่มมีหมู่บ้านขึ้นกันเป็นทิวแถว
     รู้ทั้งรู้แต่บางทีก็อดสะดุ้งต๊กกะใจไม่ได้เพราะไม่ทันสังเกต ดันนึกว่าป้ายตั้งอยู่บนพื้น...แต่ไหงจู่ๆ มันขยับเองได้พลางมีหน้าคนโผล่ออกมาจ๊ะเอ๋เข้าให้...แหม...โตะใจโหมะเลย!!!
     ปัจจุบันเจ้าของโครงการต่างๆ นิยมใช้วิธีจ้างแรงงานคนให้มาถือป้ายเคลื่อนที่ได้  แทนที่จะใช้วิธีการติดตั้งให้ถูกต้องหรือให้มันเป็นที่เป็นทางซะ
     นั่นเพราะเจ้าของธุรกิจพยายามหาช่องทางหลบเลี่ยงการกวดขันของเจ้าหน้าที่  โดยกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการด้านคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร ใช้วิธีจ้างแรงงานคนมาถือป้ายโฆษณาในลักษณะดังกล่าว หรือที่กทม.เรียกขานกันว่า “ป้ายดุ๊กดิ๊ก”
     อันที่จริงพื้นที่กทม. จะมีป้ายโฆษณาทั้งใหญ่เล็กติดตั้งอยู่ทั่วสารทิศ  ถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง แม้เจ้าหน้าที่เทศกิจจะพยายามดำเนินการตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ.2535 โดยเฉพาะกับป้ายที่ลักลอบติดผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถปราบป้ายเถื่อนเหล่านี้ให้หมดไปได้
    “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” จึงเป็นวิธีที่นิยมถูกนำมาใช้  แล้วการรับจ้างถือ “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” มีความผิดหรือไม่?  
      ถ้าว่ากันตามกฎหมาย  กล่าวกันว่าเมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของป้ายสัมผัสพื้นทางเท้าสาธารณะ ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ.2535 แต่หากมีการยืนถือตลอดเวลาอาจไม่สามารถเอาผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวได้  ซึ่งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เทศกิจคือ จะใช้วิธีการถ่ายรูปเมื่อพบเห็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ.2535 เพื่อนำมาประกอบการดำเนินคดี  
      อีกทั้งตามที่เราเห็น คนถือป้ายเหล่านี้เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่เทศกิจก็มักถือป้ายเดินหนี หรืออ้างว่าไม่ได้วางลงพื้น  แต่ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะว่ากล่าวตักเตือน ชี้แจงข้อกฎหมายก่อน  หากฝ่าฝืนกระทำอีกหลังการเตือนจะมีการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 2,000 บาท  และบางกรณีที่มีการวางบนช่องจราจรก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
      ต่อมามีคำถามตามมาว่า แล้วกทม.มีการจัดเก็บภาษีป้าย “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” เหมือนป้ายอื่นๆ หรือเปล่า  เกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง ผอ.สำนักเทศกิจ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเคยกล่าวไว้ว่า “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” ก็คือป้ายโฆษณา ซึ่งต้องมีการจัดเก็บภาษีเหมือนป้ายอื่นๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งการดำเนินการจัดเก็บภาษี  เจ้าหน้าที่เทศกิจแต่ละเขต จะทำการบันทึกภาพขณะโฆษณาส่งไปยังกองรายได้ เพื่อไปดำเนินการจัดเก็บภาษีกับเจ้าของผู้โฆษณา
      โดยเดิมที “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” มักจะพบช่วงวันหยุดวันเสาร์–อาทิตย์ และพบในพื้นที่ชานเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบัน “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” ไม่มีวันหยุด วันไหนๆ ก็สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป  เรียกว่าถ้าเจ้าของมีเงินจ้าง ผู้รับจ้างก็ยินดีทำ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีนัก  อาจมีผู้คิดว่าวิธีการหาเงินลักษณะนี้เป็นวิธีการที่ง่ายแล้ว
      เหตุใดเจ้าของโครงการคอนโดฯ หรือบ้านจัดสรรทำไมไม่วางป้ายไว้เฉยๆ หรือติดให้เป็นที่เป็นทางไว้เล่า ทำไมถึงเอาทรัพยากรมนุษย์ที่น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้มาทำอะไรแบบนี้? 
      ใช่หรือไม่ที่ผู้จ้างได้ดีไซน์ “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” เป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งป้าย เหมือนอย่างที่มีคนเคยกล่าวไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด?
     "เมื่อส่วนใด ส่วนหนึ่งของป้ายสัมผัสพื้นทางเท้าสาธารณะ ถือว่ามีความผิด แต่หากมีการยืนถือตลอดเวลาอาจไม่สามารถเอาผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวได้" นั่นคือสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
     เป็นไงล่ะ…แล้วพอเทศกิจมา “ครึ่งมนุษย์ครึ่งป้าย” เหล่านี้ก็เดินหนีได้หน้าตาเฉย!!
     แต่อย่างว่า คนถูกจ้างก็ยอมให้เขาจ้างมานั่งมายืนตากแดดโดยให้ถือของเฉยๆ ร้อนก็ร้อน อันตรายก็อันตราย วันดีคืนร้ายใครจะไปรู้ว่ารถราที่วิ่งอยู่บนถนนอาจจะโฉบเข้ามาเฉี่ยวเกี่ยวทั้งคนทั้งป้ายลงไปนอนแอ้งแม้งได้ เพราะบางรายอยู่ชิดติดขอบถนนจนดูน่าหวาดเสียว
     เสียดายเวลาที่น่าจะมาพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นในการหาเลี้ยงชีพแบบยั่งยืน แต่ก็อย่างว่าแหละ...แต่ละคนก็ต่างคิดไม่เหมือนกันเนอะ
     เพราะผู้ที่รับจ้างถือป้ายดุ๊กดิ๊กก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประอาชีพที่สุจริต เพียงแต่เขาอาจไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะอยู่ดีๆใครล่ะจะยอมมาทนตากแดดตากลมเล่นๆ และสุ่มเสียงต่อการทำผิดกฎหมายถึงแม้มันไม่ใช่เรื่องที่คอขาดบาดตายอะไร เพียงแต่วิธีการของฝ่ายผู้ที่ว่าจ้างเขานั้นมันแยบยลเสียมากกว่า
     อยากเล่น “จ๊ะเอ๋” กับป้ายดุ๊กดิ๊กไม่ใช่เรื่องยาก...วันดีคืนดีเดินไปริมฟุตปาท หรือตามป้ายรถเมล์ คุณก็สามารถต๊กกะใจได้โดยทั่วกัน!!
        
      บ.ก.หรรษาไทม์  /  เรื่อง-เรียบเรียง                                                                                                                   
      ไทยรัฐออนไลน์  / ภาพ





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้